12 ม.ค. 2567
สุขภาพดีศิริราช ตอน "ได้ยินไม่ชัด" อาจเป็นสัญญาณเตือน "ประสาทหูเสื่อม" โดย รศ. พญ. สุวัจนา อธิภาส ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
12 ม.ค. 2567
ร่วมพูดคุยและรับคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการหูอื้อ หูดับ สาเหตุของอาการเหล่านี้มาจากอะไรบ้าง มีวิธีการรักษาได้อย่างไรบ้าง กับ พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล แพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
12 ม.ค. 2567
หูชั้นนอกอักเสบ (Acute Otitis Externa) เป็นโรคที่พบบ่อยอันดับต้นๆ ของแผนกหูคอจมูก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่คนไข้ทำความสะอาดช่องหูโดยการแคะหรือปั่นหูบ่อยๆ หรือมีประวัติปวดหูหลังว่ายน้ำ การติดเชื้อบริเวณนี้อาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่หรือในบางรายที่การติดเชื้อลามไปอาจกลายเป็นฝีหนองในช่องหูได้ อาการที่พบบ่อยคือ คันในรูหู ปวดหู หูอื้อ ได้ยินลดลง อาจมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกจากช่องหู บางรายที่ติดเชื้อจนเป็นฝีหนองอาจมีไข้ร่วมด้วยได้ วิธีการรักษา ทำความสะอาดรูหูอย่างถูกต้อง โดยที่รพ.จะใช้เครื่องมือดูดหนองหรือของเหลวออกจากหู ยาหยอดหูเพื่อฆ่าเชื้อเฉพาะที่ ซึ่งแพทย์จะสั่งยาให้ตามความเหมาะสมเนื่องจากการติดเชื้อนั้นอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยหยอดวันละ3-4ครั้งตามแพทย์แนะนำ กรณีที่ช่องหูบวมมาก อาจมีการใส่ผ้าก๊อซชิ้นเล็กๆชุบยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์เพื่อลดบวมร่วมด้วย หากหูชั้นนอกบวมอักเสบมากหรือเป็นฝีหนอง แพทย์อาจให้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการติดเชื้อ อาจรับประทานยาแก้ปวดตามอาการเช่น NSAID , Paracetamol กรณีรับประทานยาหรือหยอดยาฆ่าเชื้อแต่ไม่ดีขึ้น อาการปวดรุนแรงมาก มีไข้ เป็นฝีหนองขนาดใหญ่ แพทย์อาจให้การรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดและนอนรพ.เพื่อติดตามอาการ
12 ม.ค. 2567
บ้านหมุนจากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด โรคฮิตวัยทำงาน กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี แนะนำประชาชนดูแลสุขภาพพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงเป็นโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด เป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มวัยกลางคนและวัยทำงาน เนื่องจากทำงานหนักและพักผ่อนน้อย โรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อและมักมีอาการเฉพาะคือ เวียนศีรษะเป็นๆ หายๆ บ้านหมุน เสียการทรงตัว โดยเกิดขึ้นทันทีทันใด เช่น ขณะพลิกตัวบนที่นอน หรือขณะลุกจากที่นอน ก้มดูของหรือเงยหน้าขึ้น มักเป็นอยู่ในช่วงสั้นๆ แค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ สักพักอาการจะค่อยๆ หายไป หากขยับศีรษะในท่าเดิมอาการจะกลับมาเป็นใหม่ แต่ไม่รุนแรงเท่าครั้งแรกที่เป็น อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอาการข้างเคียงร่วมด้วย ทั้งนี้อาการเวียนศีรษะที่เกิดขึ้น อาจเป็นได้หลายครั้งต่อวัน และมักเป็นอยู่หลายวันแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในหูชั้นในจะมีอวัยวะรูปร่างคล้ายก้นหอย คอยควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวและการได้ยิน ในอวัยวะควบคุมการทรงตัวมีของเหลวและตะกอนหินปูนเคลื่อนไปมา เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ เมื่อมีสาเหตุให้ตะกอนหินปูนที่อยู่ในของเหลวดังกล่าวหลุดไปจากที่อยู่ปกติ อาทิ จากความเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุโดยเฉพาะการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณศีรษะ การเคลื่อนไหวศีรษะซ้ำๆ เช่น การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต้องก้มๆเงยๆ หรือทำความสะอาด ที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ จะทำให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุด และส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุนขึ้นมาได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักไม่มีอาการหูอื้อ หรือ เสียงดังในหู ไม่มีแขนขาชา หรืออ่อนแรง หรือ พูดไม่ชัด ไม่มีอาการหมดสติ หรือเป็นลม เว้นแต่จะมีโรคอื่นๆร่วมด้วย การรักษามีหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยยาและทำกายภาพบำบัด หากการรักษาตามอาการและการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเฉพาะในกรณีจำเป็น อย่างไรก็ดีโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุดยังไม่มียาจำเพาะสำหรับการรักษา และเนื่องจากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แม้ให้การรักษาจนผู้ป่วยไม่มีอาการเวียนศีรษะแล้ว แต่ผู้ป่วยอาจกลับมามีอาการได้อีก ดังนั้นการดูแลรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ และหากพบว่า อาจมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป
12 ม.ค. 2567
“สุขภาพหู” ต้องดูแลให้ถูกวิธี ส่งผลดีต่อการได้ยิน การละเลยการดูแล “สุขภาพหู” อาจทำให้ประสาทหูเสื่อมไว ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง การรับรู้ การสื่อสารคลาดเคลื่อน สูญเสียความมั่นใจในการสื่อสารกับผู้อื่น ขาดการกระตุ้นสมอง เพิ่มความเสี่ยงภาวะสมองถึง 2 เท่า ดูแลหูอย่างไร ไม่ให้ประสาทหูเสื่อมไว หลีกเลี่ยงเสียงดัง หรือใส่อุปกรณ์ป้องกันหูเมื่ออยู่ในที่เสียงดัง จำกัดความดังของเสียง ควบคุมโรคประจำตัวเช่นเบาหวาน และ งดสูบบุหรี่ งดยาบางประเภทที่เป็นส่งผลร้ายต่อหู หากเกิดความผิดปกติในการได้ยิน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที การดูแลสุขภาพหูของตนเองอย่างถูกวิธีนั้น นอกจากจะช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยปกป้องสมอง ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อีกด้วย ข้อมูลโดย : อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร ฝ่ายโสต ศอ นาสิก วิทยา
9 ม.ค. 2567
กรมการแพทย์เตือนการแคะหูหรือปั่นหูบ่อย เสี่ยงต่อการติดเชื้อในหู และอาจทำให้แก้วหูทะลุได้ แนะควรดูแลสุขภาพหูอย่างถูกวิธี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกในร่างกายที่ต้องกำจัดออก จึงแคะหรือปั่นหูบ่อยๆ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ขี้หูมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอม ช่วยเคลือบช่องหู และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่มีขี้หู จะทำให้รูหูแห้งและคัน รูหูของคนเรามีคุณสมบัติในการทำความสะอาดตัวเอง โดยขี้หูและผิวหนังที่หลุดลอกจะค่อยๆ เคลื่อนที่ออกมาที่ปากรูหูและหลุดออก ดังนั้นการทำความสะอาดหูโดยใช้ไม้พันสำลีแคะหู ใช้น้ำหยอดหู จึงไม่มีความจำเป็นยกเว้นในบางคน ขี้หูเหนียวและเคลื่อนที่ออกมาช้า ทำให้ขี้หูรวมตัวกันเป็นก้อนภายในรูหู (Cerumen impaction) ทำให้มีอาการหูอื้อ ปวดแน่นในหู กรณีนี้ควรพบแพทย์ เพื่อทำความสะอาดรูหู ไม่ควรแคะเอง เพราะจะทำให้ขี้หูอุดตันถูกดันลึกมากขึ้น นอกจากนี้การแคะหูบ่อยๆ อาจทำให้เกิดรอยถลอกหรือแผลในรูหู ก่อให้เกิดการอักเสบของหูชั้นนอก ทำให้มีอาการปวดหู หูอื้อ มีน้ำไหลจากหู และอาจมีเยื่อแก้วหูทะลุได้ กรณีขณะแคะหูอยู่แล้วมีคนหรือสัตว์ชนแขน หรือเดินชนอะไรก็ตาม แล้วทำให้ไม้พันสำลีถูกกระแทกเข้าไปถึงเยื่อแก้วหู ดังนั้น การดูแลรักษาหู คือหลีกเลี่ยงการแคะ แกะ เกาหู ใช้เพียงผ้าเช็ดทำความสะอาดบริเวณนอกรูหูเท่านั้น นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาหูชั้นนอกอักเสบที่ง่ายที่สุดคือการป้องกัน โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการแคะหูบ่อยๆ และเมื่อเกิดการอักเสบของหูชั้นนอกแล้ว การรักษาทำได้โดยการทำความสะอาดหูโดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอด และให้ยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการปวดในรูหู กรณีที่มีเยื่อแก้วหูทะลุจากอุบัติเหตุแคะหู ทำให้การได้ยินแย่ลง ซึ่งรูทะลุสามารถปิดเองได้ โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ระหว่างนี้ผู้ป่วยต้องระวังป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู แต่ถ้าเยื่อแก้วหูทะลุไม่ปิด แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเพื่อปะเยื่อแก้วหูให้ผู้ป่วย กรณีมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาเรื่องหู เช่น การได้ยินแย่ลง มีน้ำไหลจากหู ปวดหู มีเสียงดังผิดปกติในหู หูอื้อ สามารถปรึกษาแพทย์หู คอ จมูก เพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง