Last updated: 12 ม.ค. 2567 | 375 จำนวนผู้เข้าชม |
หูชั้นนอกอักเสบ (Acute Otitis Externa) เป็นโรคที่พบบ่อยอันดับต้นๆ ของแผนกหูคอจมูก ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่คนไข้ทำความสะอาดช่องหูโดยการแคะหรือปั่นหูบ่อยๆ หรือมีประวัติปวดหูหลังว่ายน้ำ การติดเชื้อบริเวณนี้อาจเป็นการอักเสบเฉพาะที่หรือในบางรายที่การติดเชื้อลามไปอาจกลายเป็นฝีหนองในช่องหูได้
อาการที่พบบ่อยคือ คันในรูหู ปวดหู หูอื้อ ได้ยินลดลง อาจมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกจากช่องหู บางรายที่ติดเชื้อจนเป็นฝีหนองอาจมีไข้ร่วมด้วยได้
วิธีการรักษา
ทำความสะอาดรูหูอย่างถูกต้อง โดยที่รพ.จะใช้เครื่องมือดูดหนองหรือของเหลวออกจากหู
ยาหยอดหูเพื่อฆ่าเชื้อเฉพาะที่ ซึ่งแพทย์จะสั่งยาให้ตามความเหมาะสมเนื่องจากการติดเชื้อนั้นอาจจะเป็นเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา โดยหยอดวันละ3-4ครั้งตามแพทย์แนะนำ กรณีที่ช่องหูบวมมาก อาจมีการใส่ผ้าก๊อซชิ้นเล็กๆชุบยาฆ่าเชื้อผสมสเตียรอยด์เพื่อลดบวมร่วมด้วย
หากหูชั้นนอกบวมอักเสบมากหรือเป็นฝีหนอง แพทย์อาจให้รับประทานยาฆ่าเชื้อเพื่อรักษาการติดเชื้อ
อาจรับประทานยาแก้ปวดตามอาการเช่น NSAID , Paracetamol
กรณีรับประทานยาหรือหยอดยาฆ่าเชื้อแต่ไม่ดีขึ้น อาการปวดรุนแรงมาก มีไข้ เป็นฝีหนองขนาดใหญ่ แพทย์อาจให้การรักษาโดยให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดและนอนรพ.เพื่อติดตามอาการ
ชอบแคะหู ปั่นหู เสี่ยงทำ หูชั้นนอกอักเสบ!
วิธีป้องกันการติดเชื้อหูชั้นนอกที่ดีที่สุดคือ งดการแคะหู ปั่นหู หรือใช้วัตถุใดๆก็ตามเพื่อทำความสะอาดในช่องหู หรือที่เคยได้ยินคนไข้เล่าคือการทำสปาหู ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้ออักเสบรุนแรงช่องหูชั้นนอก ไม่ควรนำแอลกอฮอล์หรือซื้อยาหยอดหูมาใช้เองโดยไม่จำเป็น หากอยากทำความสะอาดหูหลังอาบน้ำอาจใช้สำลีก้อนกลมหรือผ้าสะอาดซับเบาๆที่ช่องหูด้านนอก หรือใช้วัสดุอุดหูขณะอาบน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
สิ่งสำคัญคือ คนไข้มักกังวลว่าขี้หูคือสิ่งสกปรกที่ต้องทำความสะอาดทุกวัน แต่จริงๆแล้วขี้หูผลิตออกมาเพื่อทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นกับรูหู ป้องกันสิ่งแปลกปลอม มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติขี้หูสามารถที่จะหลุดออกไปได้ตามธรรมชาติดังเช่นขี้ไคล ดังนั้นการแคะหรือปั่นเพื่อกำจัดขี้หูจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ต้องทำเป็นประจำเพราะอาจส่งผลทำให้ติดเชื้อหูชั้นนอก หรือในบางรายอาจปั่นจนเกิดแก้วหูทะลุตามมาได้
แพทย์หญิงปิยมาภรณ์ อิทธิโสภณพิศาล
แพทย์เฉพาะทาง โสต ศอ นาสิกวิทยา
12 ม.ค. 2567
12 ม.ค. 2567