ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย

Last updated: 15 ม.ค. 2567  |  537 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย

ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย
“ลำไส้แปรปรวน” อีกหนึ่งโรคที่กลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และเป็นโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก โดยโรคลำไส้แปรปรวน มีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล บางรายท้องผูก บางรายท้องเสีย โดยจะมีอาการปวดท้องเป็นอาการเด่นของโรค จึงถือเป็นโรคที่ควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจ เพื่อสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ป้องกันการเกิดโรค

สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เบื้องต้นพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาจเคยมีการติดเชื้อในลำไส้นำมาก่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้และทำให้เกิดโรค หรือบางรายมีประวัติเคยเจ็บป่วยหรือถูกทำร้ายสมัยเด็กหรือมีความเครียด อาจทำให้กลายเป็นโรคลำไส้แปรปรวนได้

อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
อาการเด่นของโรคคือ “ปวดท้อง” ที่สัมพันธ์กับการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (ท้องผูก, ท้องเสีย) โดยอาการปวดท้องมักจะดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย หรือในบางรายอาการปวดท้องอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็ยังสามารถเป็นโรคนี้ได้

การแยกโรคลำไส้แปรปรวนกับโรคอื่น
หากเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง มักไม่มีอาการปวดท้อง
โรคท้องเสียเรื้อรังก็เช่นกัน มักไม่มีอาการปวดท้อง
หากเป็นโรคกระเพาะอาหารจะปวดท้องส่วนบน แต่ลำไส้แปรปรวนจะปวดกลางท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคลำไส้แปรปรวนและโรคอื่นของระบบทางเดินอาหาร สามารถพบร่วมกันได้

การพิจารณาว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน
ระยะเวลาที่เป็นต้องนานอย่างน้อย 6 เดือน
ต้องมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์โดยอาการจะสัมพันธ์กับการขับถ่าย
ต้องไม่มีสัญญาณอันตราย เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้องรุนแรงจนทำให้ตื่นกลางดึก คลำได้ก้อน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น
มักเป็นในคนอายุน้อยโดยเฉพาะเพศหญิง
หากอาการมาเริ่มเป็นในผู้สูงอายุหรือมีสัญญาณอันตรายต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนเสมอ
การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน
ความยากง่ายในการรักษาแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน
รักษาโดยการปรับพฤติกรรมและใช้ยา
ยาที่ใช้ แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อลำไส้โดยตรงและกลุ่มที่ออกฤทธิ์ปรับการหลั่งของสารสื่อประสาท
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องค้นหาและมีวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมหรือปรึกษาจิตแพทย์รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
รักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด,ยาระบาย (ท้องผูก),ยาหยุดถ่าย (ท้องเสีย)
 

ข้อมูลโดย
อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้