การขับถ่าย

ลำไส้แปรปรวน ภาวะที่เป็นปัญหาต่อระบบขับถ่าย “ลำไส้แปรปรวน” อีกหนึ่งโรคที่กลายเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต และเป็นโรคที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก โดยโรคลำไส้แปรปรวน มีอาการแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล บางรายท้องผูก บางรายท้องเสีย โดยจะมีอาการปวดท้องเป็นอาการเด่นของโรค จึงถือเป็นโรคที่ควรทำความรู้จักและทำความเข้าใจ เพื่อสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ป้องกันการเกิดโรค สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด เบื้องต้นพบว่ามีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อาจเคยมีการติดเชื้อในลำไส้นำมาก่อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้และทำให้เกิดโรค หรือบางรายมีประวัติเคยเจ็บป่วยหรือถูกทำร้ายสมัยเด็กหรือมีความเครียด อาจทำให้กลายเป็นโรคลำไส้แปรปรวนได้ อาการของโรคลำไส้แปรปรวน อาการเด่นของโรคคือ “ปวดท้อง” ที่สัมพันธ์กับการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ (ท้องผูก, ท้องเสีย) โดยอาการปวดท้องมักจะดีขึ้นเมื่อได้ขับถ่าย หรือในบางรายอาการปวดท้องอาจจะไม่ดีขึ้นแต่ก็ยังสามารถเป็นโรคนี้ได้ การแยกโรคลำไส้แปรปรวนกับโรคอื่น หากเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง มักไม่มีอาการปวดท้อง โรคท้องเสียเรื้อรังก็เช่นกัน มักไม่มีอาการปวดท้อง หากเป็นโรคกระเพาะอาหารจะปวดท้องส่วนบน แต่ลำไส้แปรปรวนจะปวดกลางท้องหรือปวดท้องส่วนล่าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคลำไส้แปรปรวนและโรคอื่นของระบบทางเดินอาหาร สามารถพบร่วมกันได้ การพิจารณาว่าเป็นโรคลำไส้แปรปรวน ระยะเวลาที่เป็นต้องนานอย่างน้อย 6 เดือน ต้องมีอาการปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์โดยอาการจะสัมพันธ์กับการขับถ่าย ต้องไม่มีสัญญาณอันตราย เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้องรุนแรงจนทำให้ตื่นกลางดึก คลำได้ก้อน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นต้น มักเป็นในคนอายุน้อยโดยเฉพาะเพศหญิง หากอาการมาเริ่มเป็นในผู้สูงอายุหรือมีสัญญาณอันตรายต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนเสมอ การรักษาโรคลำไส้แปรปรวน ความยากง่ายในการรักษาแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน รักษาโดยการปรับพฤติกรรมและใช้ยา ยาที่ใช้ แบ่งออกเป็น กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อลำไส้โดยตรงและกลุ่มที่ออกฤทธิ์ปรับการหลั่งของสารสื่อประสาท การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องค้นหาและมีวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสมหรือปรึกษาจิตแพทย์รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้โรคกำเริบ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รักษาด้วยยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด,ยาระบาย (ท้องผูก),ยาหยุดถ่าย (ท้องเสีย) ข้อมูลโดย อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ขับถ่ายดี สุขภาพปัง!

ท้องผูก ถ่ายยาก ทำยังไงดี ท้องผูก คือ อาการที่ลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากทางเดินอาหารได้ตามปกติ เกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานาน เมื่อร่างกายมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง และมีขนาดใหญ่ ส่งผลให้ขับถ่ายได้ลำบาก สาเหตุของการเกิดโรคก็มีหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องของโรคประจำตัว หรือการใช้ยาบางชนิด ก็ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน การปรับพฤติกรรม รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น ขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพราะหากทำเป็นประจำจะทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกได้ อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้ การรักษาด้วยยา เมื่อปรับพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น สามารถใช้ยาได้ ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยระบาย หากใช้ยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ท่านั่งที่ดี ก็ช่วยให้การขับถ่ายทำได้ง่ายยิ่งขึ้นเช่นกัน ซึ่งท่าที่เหมาะที่สุดคือท่านั่งยอง ๆ เนื่องจากเป็นท่าที่ลำไส้ทำมุมตรงกับการขับถ่าย แต่หากใช้ชักโครกแบบนั่ง ก็สามารถปรับเปลี่ยนด้วยการงอเข่าเข้าหาลำตัว หรือหาเก้าอี้เล็ก ๆ มาวางไว้เพื่อช่วยยกขาให้สูงขึ้นก็ได้เช่นเดียวกัน สุดท้ายการถ่ายอุจจาระขึ้นอยู่กับสุขภาพและลักษณะร่างกายของแต่ละคน หากสามารถขับถ่ายได้อย่างปกติ ไม่มีอาการเจ็บปวด แม้จะไม่ได้ขับถ่ายทุกวัน ก็ยังไม่ถือว่ามีอาการท้องผูก แต่หากมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น ถ่ายเหลว ลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนไปจากเดิม มีก้อนเล็กลง หรือมีเลือดปน ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง

5 ข้อเสียของการขับถ่ายไม่เป็นเวลา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้