Last updated: 17 ม.ค. 2567 | 504 จำนวนผู้เข้าชม |
“Burn out” ภาวะหมดไฟ ไม่ใช่โรค แต่อาจนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล
กรมการแพทย์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เผยถึงภาวะหมดไฟ หรือ Burn out ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ ไม่ใช่โรค เกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งไม่สามารถจัดการได้ หากมีอาการรู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้าเบื่อหน่ายตลอดเวลา หมดความสนใจในงานที่ทำ ควรหาเวลาพักผ่อน แบ่งเวลาระหว่างเรื่องงานกับบ้านให้ชัดเจน หรือปรึกษาแพทย์
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า Burn out หรือภาวะหมดไฟ เป็นปรากฏการณ์ทางอาชีพ (occupational phenomenon) ไม่ใช่เป็นโรค (medical condition) และเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงาน ซึ่งได้จัดอยู่ในบัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรค และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับที่ 11 โดยมีรหัสกำหนดในหมวด Z คือ “ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาวะ” เพราะเล็งเห็นว่าประเด็นนี้มีความสำคัญ คุกคามสุขภาวะ และอาจจะนำไปสู่โรคต่าง ๆ ได้ เช่น ภาวะโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือแม้กระทั่งปวดหัวชนิดเทนชั่น หรือโรคนอนไม่หลับ เป็นต้น
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตระหนักถึงภาวะ Burn out หรือกลุ่มอาการ (Syndrome) ที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ซึ่งยังไม่ถูกจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งลักษณะอาการใน 3 กลุ่ม คือ 1. รู้สึกหมดพลังหรือเหนื่อยล้า 2. รู้สึกว่าจิตใจห่างเหินจากงานและมีทัศนคติด้านลบต่องาน 3. ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และอาจส่งผลต่อบุคลากรในโรงพยาบาล จึงแนะนำถึงวิธีการป้องกันการนำมาสู่ภาวะดังกล่าว คือ ต้องแบ่งขอบเขตระหว่างงานและบ้านให้ชัดเจน หาเวลาพักผ่อน ปิดสวิทซ์งานเมื่ออยู่บ้าน อย่าเป็นทุกข์อยู่คนเดียว ต้องบอกเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านาย
17 ม.ค. 2567
17 ม.ค. 2567
17 ม.ค. 2567