Last updated: 17 ม.ค. 2567 | 506 จำนวนผู้เข้าชม |
‘เบิร์นเอาท์’ ซินโดรม ภาวะหมดไฟ เมื่องานเบิร์นชีวิตจนหมดไฟ จัดการอย่างไรดี?
“พรุ่งนี้วันจันทร์แล้วหรอ?”
“เฮ้อ ต้องทำงานอีกแล้ว”
อาการเบื่องาน เนือยๆ ไม่มีสมาธิ ไม่อยากทำอะไรเลย ทั้งความกระตือรือร้น ทั้ง Passion ที่เคยมีหายต๋อมไปกับวังวนความเหนื่อยล้า
อาการหมดไฟ หรือ Burnout แบบนี้ เพิ่งถูกจัดเข้าในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases (ICD)) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือถูกยอมรับแล้วว่าเป็น ‘ภาวะ’ อย่างหนึ่งที่ควรได้รับการรักษา
องค์การอนามัยโลกระบุว่าภาวะนี้เกิดจากความเครียดความกดดันจากสภาพแวดล้อมการทำงาน ที่สะสมมาระยะเวลาหนึ่งและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง จนเกิดอาการหมดไฟโดยมีอาการหลักๆ 3 ข้อ คือ
1) รู้สึกเหนื่อยล้า หมดแรง
2) รู้สึกกับงานในทางลบ หรือไม่รู้สึกยินดียินร้ายไปเลย
3) ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
หมดไฟ …จัดการอย่างไรดี
คำแนะนำในการจัดการกับภาวะหมดไฟทำได้ 2 ด้าน คือ 1. จัดการกับตัวเอง 2. จัดการกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
1.จัดการกับตัวเอง
– พักผ่อนให้เพียงพอนอนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง การชาร์จแบตให้ร่างกายอย่างเต็มที่คือกุญแจสำคัญ
– ผ่อนคลายอารมณ์ด้วยกิจกรรมอื่นๆ เพราะความเครียดเป็นเรื่องธรรมชาติ ในเมื่อคุณเป็นคนที่ใส่ใจและขยันทำงานคุณก็จะทำได้ดีในการใส่ใจและรักตัวเองเช่นกัน ดังนั้นควรให้รางวัลตัวเองบ้าง ไม่ว่าจะอยากนั่งเฉยๆ เดินไปเรื่อยๆ นอนอุตุดูหนัง ฟังเพลง หรือชอปปิ้ง คุณก็สามารถทำได้ ถือเป็นรางวัลให้กับตัวเองที่ตั้งใจทำงานมาตลอด
– พูดคุย ขอคำปรึกษา คุณสามารถพูดหรือบอกกับคนอื่นๆได้ ว่าคุณรู้สึกหมดแรง หรือเบื่อ หรือถ้าหากคุณรู้สึกว่าอาการของคุณรุนแรงมากกว่าปกติ ต้องการความช่วยเหลือ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก็สามารถทำได้เช่นกัน
2.จัดการกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน
คำแนะนำจาก WHO คือการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีความรู้สึกในทางบวกมากขึ้น ซึ่งด้านนี้ต้องอาศัยวิสัยทัศน์และนโยบายของผู้บริหารและ HR เช่น
– สร้างเป้าหมายเส้นทางอาชีพให้พนักงาน เพื่อให้มีทิศทางในการทำงานชัดเจนขึ้น ยิ่งมีเป้าหมาย ก็ยิ่งมีกำลังใจ
– สร้างความมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของพนักงานเพื่อให้สถานที่ทำงานทำให้ผู้ทำงานรู้สึกสบายใจมากขึ้น เช่นร่วมโหวตสถานที่ท่องเที่ยวประจำปีของบริษัท หรือโหวตเมนูอาหารใหม่ในโรงอาหารที่อยากกิน
– นโยบายดูแลสุขภาพกายและใจของพนักงานเพื่อช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม
ที่มา: – องค์การอนามัยโลก (WHO)
17 ม.ค. 2567
17 ม.ค. 2567
17 ม.ค. 2567
17 ม.ค. 2567