5 สัญญาณเสี่ยง ที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน รีบแก้ไขก่อนสายเกินแก้

Last updated: 16 ม.ค. 2567  |  205 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 สัญญาณเสี่ยง ที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน รีบแก้ไขก่อนสายเกินแก้

ในยุคที่วัฒนธรรมและการสื่อสารไร้พรมแดน ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราได้พบเห็นการใช้ชีวิตจากผู้คนทั่วทุกมุมโลก ทั้งในเรื่องของชีวิตประจำวัน แนวคิด ค่านิยม การบริโภค ความงาม หรือความสำเร็จ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนมีชื่อเสียง หรือคนทั่วไปก็ตาม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมีความต้องการใช้ชีวิต ตามกระแสสังคม หรือตามคนที่เราชื่นชอบ

และด้วยความต้องการเหล่านี้เองที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้คนที่มีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องนำเงินในอนาคตมาใช้ ในขณะที่ตนเองยังไม่พร้อม หรือการรูดบัตรเครดิต เพื่อจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เสื้อผ้า เครื่องสำอาง อาหารเสริม คอร์สเสริมสวย ท่องเที่ยว อาหารมื้อหรู รวมถึงสิ่งที่เราเรียกกันติดปากว่า “ของมันต้องมี” ในขณะที่เราไม่สามารถจะชำระเต็มจำนวนได้ ซึ่งการบริโภคที่มากเกินฐานะ และการก่อหนี้เกินกว่าที่เราจะจัดการได้นี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสัญญาณความเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน

5 สัญญาณเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพทางการเงิน
 มีภาระการผ่อนชำระหนี้สินต่อเดือน มากกว่า 40% ของรายได้สุทธิในแต่ละเดือน
ไม่ว่าจะเป็นการผ่อน บ้าน/คอนโด รถยนต์/จักรยานยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่าภาระการผ่อนชำระต่อเดือนที่มากเกินไป อาจทำให้เราต้องใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน ไม่เหลือเก็บเพื่อเป้าหมายอื่นในชีวิต หรือถึงขั้นไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือน
ไม่มีเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน
ในสภาวะปกติ เราอาจจะไม่รู้สึกถึงปัญหา แต่หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เราอาจจะต้องนำเงินที่เก็บไว้เพื่อเป้าหมายอื่นในชีวิตออกมาใช้ก่อนกำหนด ทำให้เสียโอกาสในการรับผลตอบแทนตามที่คาดหวังไว้ แต่หากไม่มีเงินเก็บในส่วนอื่นด้วยแล้ว ก็ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายฉุกเฉินกันเลยทีเดียว
ค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงกว่ารายได้
การเงินรายเดือนติดลบ ทำให้เราต้องนำเงินเก็บออกมาใช้ และถ้ายังชักหน้าไม่ถึงหลังแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ก็ต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อมาใช้จ่าย จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้
ชำระบัตรเครดิตแบบขั้นต่ำอย่างต่อเนื่อง
การรูดบัตรเครดิตเกินกว่าที่จะมีกำลังจ่ายเต็มจำนวน จนต้องชำระแบบขั้นต่ำ รวมถึงการกดเงินสดจากบัตรเครดิต ถือเป็นสาเหตุหลักของภาระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ยิ่งถ้าเรากดเงินสดออกมาใช้ แล้วยังชำระขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องทุกเดือน จะยิ่งทำให้หนี้สินของเราพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว เกินกว่าที่เราจะรับมือไหว
จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่าย
ไม่ว่าเราจะกู้เงินเพื่อมาจ่ายชำระหนี้ หรือการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จะทำให้เราพบเจอกับปัญหาหนี้สินที่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่สามารถชำระหนี้ได้ กลายเป็นหนี้เสียในที่สุด
ถ้าพบว่าตัวเองมีสัญญาณเสี่ยงใน 5 ข้อนี้ ลองปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย มีวินัยกับตัวเองให้มากขึ้น แล้วมาเริ่มต้นวางแผนทางการเงินต่อไปให้ดี ฟื้นฟูสุขภาพทางการเงิน เสริมเกราะป้องกันความเสี่ยงให้ตนเอง เพื่อสร้างความมั่นคงมั่งคั่งในระยะยาว โดยใช้หลักพีระมิดทางการเงิน เพื่อเป็นตัวช่วยในการวางแผนการเงินให้กับผู้อ่านทุกท่านได้

การวางแผนการเงิน ด้วยพีระมิดทางการเงิน จะเน้นที่การวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากการสร้างรากฐานให้มั่นคงก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยต่อยอดไปที่ขั้นถัดไปเรื่อย ๆ จนถึงยอดบนสุดของพีระมิด ลองดูตามภาพจะเห็นว่าฐานของพีระมิด คือ การวางแผนจัดการรายรับ-รายจ่าย จะเป็นขั้นที่ใหญ่และกว้างที่สุด เรียกได้ว่า การเงินที่ดีต้องเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ การวางแผนภาษี จะอยู่ในทุกขั้นของพีระมิดควบคู่ไปด้วย เพราะภาษีเกี่ยวข้องกับเราในทุกจังหวะของชีวิต การวางแผนภาษีที่ดีจะช่วยให้เป้าหมายทางการเงินของเราสำเร็จได้ง่ายขึ้น ถ้าใครรู้จักใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เป็น ก็จะมีเงินมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การซื้อประกันสะสมทรัพย์ ประกันสุขภาพ การลงทุนใน SSF, RMF หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ตามที่กรมสรรพากรกำหนด

เรามาเริ่ม ขั้นตอนการวางแผนการเงิน ทั้ง 4 ขั้น ไปพร้อม ๆ กัน

ขั้นที่ 1 วางแผนจัดการ รายรับ-รายจ่าย เพื่อสร้างรากฐานทางการเงินให้แข็งแรง โดยจัดทำบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้เห็นชัดเจนว่า ในแต่ละเดือนเราต้องจ่ายเงินออกไปกับค่าอะไรบ้าง และคำนึงไว้เสมอว่ารายรับต้องมากกว่ารายจ่ายในทุกเดือน ไม่ว่าจะหารายได้เพิ่มหรือลดรายจ่ายลงก็ตาม เพื่อให้เรามีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะใช้จ่าย มีเงินเหลือไว้ใช้หนี้ ทยอยเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ให้มีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เผื่อวันใดเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมาจะได้มีเงินเตรียมพร้อมรับมือ ไม่กระทบต่อเป้าหมายอื่นในชีวิต และไม่ต้องไม่เผชิญสัญญาณเสี่ยงอีก

ขั้นที่ 2 วางแผนจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้ตนเอง ทั้งในด้านชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการทำ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันภัยทรัพย์สิน ไม่ให้เหตุฉุกเฉินมาทำให้เรากลับไปอยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อเกิดเหตุขึ้น เราจะมีความคุ้มครองที่ครอบคลุม ทั้งการรักษาพยาบาล ชดเชยความเสียหาย และไม่เป็นการสร้างภาระให้คนในครอบครัว นอกจากนี้เราควรจะต้องวางแผนเพื่อการเกษียณไว้ด้วย เรียกได้ว่าป้องกันความเสี่ยงกับทุกสถานการณ์ในชีวิตอย่างครอบคลุม

ขั้นที่ 3 วางแผนออมเงินและลงทุน เพื่อต่อยอดความมั่นคงเพิ่มความมั่งคั่ง เมื่อเรามีกำลังพอที่จะมีเงินเหลือเก็บออมในแต่ละเดือน ก็ให้นำเงินไปลงทุนต่อยอด ตามเป้าหมายทางการเงินที่เราวางไว้ เริ่มจากประเมินความเสี่ยงที่เรารับได้ ผลตอบแทนที่เราต้องการ และระยะเวลาในการลงทุนของแต่ละเป้าหมาย แล้วจึงเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับเป้าหมายการเงินระยะยาว อย่างการออมเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณ เราอาจจะเน้นลงทุนระยะยาว และมีความเสี่ยงไม่สูงนัก เช่น ประกันสะสมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น แต่หากเราต้องการลงทุนระยะกลาง เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราอาจจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนสูงขึ้นมาหน่อย เช่น กองทุนรวมตราสารทุน หรือหุ้น เป็นต้น

ขั้นสุดท้าย บนสุดของพีระมิด คือ การวางแผนมรดก เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งให้คนที่เรารัก ขั้นนี้ยังไม่ต้องรีบวางแผน ขอให้เรามีความมั่นคงและมั่งคั่งทางการเงินให้ได้ก่อน เอาตัวเองให้อยู่รอด มีความสุขดี แล้วจึงค่อยวางแผนสร้างหลักประกันในชีวิตให้ทายาทต่อไป

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ ลองสำรวจดูว่าเรามีสัญญาณเสี่ยงอะไรที่จะเสียสุขภาพการเงินแล้วหรือยัง ถ้ารู้ตัวว่ามี ก็รีบแก้ไข แล้วเริ่มต้นวางแผนทางการเงินกันใหม่ไปทีละสเต็ป เพื่อความมั่นคง และมั่งคั่งในระยะยาว ถ้าใครอยากศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม สามารถค้นหาได้ที่เว็บไซต์ธนาคารกรุงศรีฯ www.krungsri.com

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้